❤ สรีรวิทยาที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์

ระบบกล้ามเนื้อ Muscle System แบ่งได้ 3 ชนิดคือ
      1. กล้ามเนื้อลาย (Skeletal muscles) ทำหน้าที่ตอบสนองสิ่งเร้าภายนอกแทบทั้งหมด ทำงานภายใต้สภาวะการควบคุมของระบบประสาทส่วนกลางทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ
      2. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth muscles) เป็นกล้ามเนื้อของอวัยวะภายในร่างกาย ทำหน้าที่ตอบสนองสิ่งเร้าภายใน ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน
      3. กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac muscles) กล้ามเนื้อหัวใจจะหดตัวและขยายตัวในเวลาสูบฉีดโลหิตตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจชำรุดหรือล้า จะทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้



ระบบต่อม Glands System
1. ต่อมมีท่อ (Duct glands)
      1.1 ต่อมน้ำลาย (Salivary gland) อยู่ในปากใต้ลิ้น มีหน้าที่ ขับน้ำลายเพื่อช่วยย่อยอาหารในปาก
      1.2 ต่อมเหงื่อ (Sweat gland) ปรับร่างกายให้มีอุณหภูมิในระดับปกติ
      1.3 ต่อมน้ำตา (Tear gland) อยู่ที่ขอบตา มีหน้าที่สร้างน้ำตาออกมาหล่อเลี้ยงชะล้างนัยน์ตาให้สะอาด
      1.4 ต่อมน้ำมันใต้ผิวหนัง (Sebaceous gland) ผลิตน้ำมันออกมาหล่อเลี้ยง ผม ขน ผิวหนังไม่ให้แห้งและเปราะง่าย
      1.5 ต่อมน้ำนม (Mammary gland) มีในเพศหญิงช่วยสร้างน้ำนมขณะมีลูกอ่อน



2. ต่อมไร้ท่อ (Ductless glands Endocrine glands)
      2.1 ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมที่ใหญ่ที่สุดของต่อมไร้ท่อ ผลิตฮอร์โมน 2 ชนิด
           1) ไทรอกซิน (Thyroxin) ทำหน้าที่ควบคุมเมตาโบริซึม (Metabolism) ของร่างกาย เพื่อให้ร่างกายใช้อาหารและ ออกซิเจน ในการสร้างพลังงานได้เต็มที่
           2) แคลซิโทนิน (Calcitonin) มีหน้าที่ทำให้กระดูกสะสมแคลเซียมและฟอสเฟต
      2.2 ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) ผลิตฮอร์โมน พาราทอร์โมน (Parathomone) มีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญอาหารต่างๆในร่างกาย ควบคุมการเผาผลาญของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย
           ถ้าต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป = ทำให้มีอาการเกร็ง และชักกระตุก
           ถ้าต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป = ทำให้กระดูกบาง อ่อน งอ หรืออาจะหักลง ฟันหักและผุง่าย กล้ามเนื้อลีบ
      2.3 ต่อมไทมัส (Thymus gland) เมื่ออายุน้อยต่อมนี้จะโตมาก ยิ่งอายุมากขึ้นต่อมจะมีขนาดเล็กลง และจะฝ่อไปเมื่ออายุประมาณ 50 ปี
      2.4 ต่อมไพเนียล (Pineal gland) ต่อมเหนือสมอง ผลิตฮอร์โมนชื่อ เมลาโทนิน (Melatonin) มีหน้าที่ ยับยั้งการเจริญเติบโตของรังไข่ และอวัยวะสืบพันธุ์ ควบคุมไม่ให้มีความรู้สึกทางเพศเร็วก่อนวุฒิภาวะ
      2.5 ต่อมแพนครีส (Pancreas gland) เป็นกลุ่มเซลล์แทรกอยู่ในเนื้อของตับอ่อน
      1) อินซูลิน (Insulin) ทำหน้าที่กระตุ้นอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ควบคุมระดับน้ำตาบในเลือด
           ถ้าอินซูลินน้อยเกินไป = ทำให้เป็นโรคเบาหวาน หิวง่าย กระหายน้ำ มีปัสสาวะมาก ถ่ายปัสสาวะบ่อย
           ถ้าอินซูลินมากเกินไป = ทำให้หิวและอ่อนเพลียมาก เลือดลดลงมากๆไม่พอเลี้ยงสมอง อาจทำให้ช็อคได้
      2) กลูคากอน (Glucacon) ทำหน้าที่เพิ่มปริมาณกลูโคสในเลือด ช่วยรักษาคนที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำ
      2.6 ต่อมหมวกไต หรือต่อมอดรีนัล (Adrenal gland) หรือต่อมหมวกไต ทำหน้าที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในร่างกาย ควบคุมการสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
      2.7 ต่อมเพศ (Gonad gland) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เกี่ยวการพัฒนาการของลักษณะทางเพศ
           1) อัณฑะ มีหน้าที่สร้างตัวอสุจิ และสร้างฮอร์โมน คือแอนโดรเจน และเทสโทสเทอโรน มีหน้าที่ควบคุมความเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศชาย และควบคุมลักษณะทุติยภูมิทางเพศ เช่น ตัวใหญ่ ไหล่กว้าง แข็งแรง นมขึ้นพาน เสียงแตก ลูกกระเดือกแหลม มีหนวดเคราขึ้น
           2) รังไข่ มีหน้าที่สร้างไข่ และสร้างฮอร์โมน เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะทุติยภูมิทางเพศในหญิง กระตุ้นต่อมน้ำนมเจริญเติบโตมีทรวดทรงดี ผิวพรรณละเอียดอ่อน เสียงแหลมเล็ก มีขนบริเวณรักแร้ และอวัยวะเพศ
           3) โปรเจสเตอโรน มีหน้าที่ควบคุมเยื่อชั้นในของมดลูกให้มีการเตรียมตัวเพื่อรองรับการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว



      2.8 ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) มี 3 ส่วน ดังนี้
           1) ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary) มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของกระดูก และการปฏิบัติหน้าที่ของต่อมเพศ การขับน้ำนม สร้างฮอร์โมนดังนี้
           - Growth hormone (GH) ทำหน้าที่ควบคุมหารเจริญเติบโตของร่างกายโดยเฉพาะกระดูกเส้นเอ็น และอวัยวะต่างๆของร่ายกาย
           - Adrenocorticotrophic hormone (ACTH) ทำหน้าที่กระตุ้นต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมน
           - Thyrotrophic hormone (TSH) มีหน้าที่การสร้างการหลั่งฮอร์โมนของต่อยไทรอยด์
           - Follicular Stimulating hormone (FSH) ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์
           - Lutinizing hormone (LH) ทำหน้าที่กระตุ้นรังไข่ในการสร้างฮอร์โมน
           - Prolactin hormone (LTH) ทำหน้าที่ร่วมกับ GH กระตุ้นให้ต่อมน้ำนมเจริญเติบโต
           2) ต่อมใต้สมองส่วนกลาง (Intermediate Pituitary) ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินเตอร์มีดิน ควบคุมการกระจายของเม็ด รงควัตถุในเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีสีผิวเข้มขึ้น
           3) ต่อมใต้สมองส่วนท้าย (Posterior Pituitary) แยกย่อยได้ 3 ชนิดคือ
           - พิโทซิน (Pitocin) กระตุ้นให้กล้ามเนื้อของมดลูกบีบตัวและหดตัวเพื่อช่วยในการคลอด
           - พิเทรสซิน (Pitressin) มีหน้าที่กระตุ้นเส้นเลือดแดงให้บีบตัวทำให้ความดันโลหิตสูง
           - แอนติไดยูเรติด (Antidiuratic hormone) กระตุ้นให้ไตดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสโลหิตก่อนที่จะขับออกมาเป็นปัสสาวะ



ระบบประสาท (NERVOUS SYSTEM)
      1.ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) CNS
ประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง ความรู้สึกต่างๆของร่างกาย ซึ่งรับเข้ามาโดยอวัยวะรับความรู้สึก จะส่งไปยังระบบปรสาทส่วนกลาง ซึ่งจะแปลความหมายและแสดงปฏิกิริยาตอบโต้
      2. ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system) PNS
           ระบบประสาทอัตบาล (ANS) ประกอบด้วยเส้นประสาทเป็นชุดๆซึ่งส่วนใหญ่ส่งกระแสประสาทไปกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบ ทำหน้าที่เป็น ระบบสั่งงาน (Motor System)มีบทบาสำคัญในการเกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์
           ระบบประสาทโซมาติก (SNS) ประกอบด้วยเส้นประสาทที่รับความรู้สึกหลังจากการเร้าภายนอกผ่านผิวหนังทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น เจ็บ ร้อน หนาว หรือถูกกดดัน



เซลล์ประสาท (NEURON)
      1. ตัวเซลล์ (Cell body) มีส่วนประกอบคล้ายๆเซลล์ทั่วไป
      2. เดนไดรท์ (Dendrites) มีหน้าที่นำกระแสประสาทเข้าสู่เซลล์ประสาท
      3. แอกซอน (Axon) ทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทออกจากเซลล์
      4. ชีแนปส์ (Synapse) ทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทไปยังเซลล์อื่นๆ



GENERAL PSYCHOLOGY

❤ พัฒนาการของมนุษย์


ความหมายของการเจริญเติบโตและพัฒนาการ

     การเจริญเติบโต (Growth) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เน้นไปที่ทางด้านร่างกาย ขนาดและสัดส่วน เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณและง่ายต่อการวัด เช่นส่วนสูง น้ำหนัก
     พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่มีความครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย ด้านการคิด ด้านบุคลิกภาพ และด้านสังคมของบุคคล



วุฒิภาวะและการเรียนรู้

     วุฒิภาวะ (Maturation) หมายถึง รูปแบบของพฤติกรรมในเชิงชีววิทยาที่มีความสัมพันธ์กับอายุ เป็นกระบวนการที่ควบคุมทางพันธุกรรมของการเจริญเติบโต
     การเรียนรู้ (Learning) หมายถึง รูปแบบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือฝึกหัด การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีวุฒิภาวะเป็นพื้นฐาน


     วุฒิภาวะและการเรียนรู้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการพัฒนาการ



พัฒนาการในวัยต่าง ๆ

     วัยทารก จะมีช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี วัยทารกจะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากบุคคลอื่นโดยเฉพาะแม่ ในวัยนี้จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเห็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างทางกล้ามเนื้อ

     วัยเด็ก เป็นวัยที่อยู่ในช่วงอายุ 2 – 11 ปี มีการพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ในการเล่น มักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว พัฒนาการทางสติปัญญาจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในตอนปลายของวัยนี้ พัฒนาการทางสังคมจะได้รับอิทธิพลการเลียนแบบจากพ่อแม่ ลักษณะเด่น ในวัยนี้คือ ลักษณะบทบาททางสังคม ความกดดันจากเพื่อนในวัยเดียวกัน และการสร้างมิตรภาพ

     วัยรุ่น เด็กชายจะมีอายุประมาณ 13 ปี ส่วนเด็กหญิงจะมีอายุประมาณ 11 ปี และจะสิ้นสุดวัยนี้เมื่ออายุ 18 – 21 ปี พัฒนาการทางกายจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีส่วนสูง และน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น โดยเด็กหญิงเริ่มมีประจำเดือน ส่วนเด็กชายเริ่มมีการฝันเปียกเป็นครั้งแรก พัฒนาการทางสังคมและบุคลิกภาพ เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เด็กวัยรุ่นมักมีปัญหาในช่วงวัยนี้ พัฒนาการในเอกลักษณ์ของตนเองของวัยรุ่น เป็นลักษณะที่อยู่ภายใต้ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแรงขับ ความสามารถและความเชื่อของบุคคล การสร้างมิตรภาพ วัยรุ่นจะชอบเพื่อนที่มีความสนใจ บุคลิกภาพ และมีลักษณะนิสัยอารมณ์คล้ายคลึงกับตน จะใช้เวลาจำนวนมากกับเพื่อนสนิทมากกว่าพ่อแม่ของตน

     วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่พัฒนาต่อมาจากช่วงวัยรุ่น การแบ่งวัยผู้ใหญ่ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงอายุ คือ
          วัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 18 – 45 ปี จัดเป็นระยะที่ถือได้ว่า “ดีที่สุดของชีวิต” ร่างกายจะมีการเจริญเติบโตทางกายสูงสุดในระหว่างช่วงอายุ 20 ปี มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และส่วนต่าง ๆ ของอวัยวะในร่างกายทำงานได้สูงสุด
          วัยกลางคน อายุ 45 – 65 ปี ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงจากวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เส้นผมจะเริ่มเสื่อมลงอายุประมาณ 50 ปี บุคคลจะมีผมสีเทา ผิวหนังเริ่มเหี่ยวลง ระบบไหลเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพลดลง ในช่วงวัยนี้จัดได้ว่าเป็นวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเรียกว่า menopause
          วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย หรือวัยชรา อายุ 65 ปีขึ้นไป – ตาย กระบวนการเสื่อมในร่างกายเริ่มปรากฏอย่างรวดเร็วขึ้น ผิวหนังมีการหดตัวเหี่ยวย่นอย่างต่อเนื่อง ผมหงอกเร็วขึ้น ฟันหักต้องใช้ฟันปลอม มีความเสื่อมลงในระบบไหลเวียนโลหิต ระบบการหายใจ และระบบกล้ามเนื้อ รวมทั้งอวัยวะรับสัมผัสก็มีประสิทธิภาพลดน้อยลงทีละน้อย ร่างกายมักสูญเสียความสามารถที่จะปกป้องตนเองจากโรคต่าง ๆ



ทฤษฎีพัฒนาการ

      1. ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของฟรอยด์
          ฟรอยด์ได้เสนอระยะพัฒนาการซึ่งมี 5 ขั้น จากตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น บางครั้งจะเรียกว่า ทฤษฎีพัฒนาการทางเพศของฟรอยด์ ซึ่งแต่ละขั้นของพัฒนาการจะแปรเปลี่ยนไปตามอวัยวะแต่ละส่วน ถ้าบุคคลไม่สามารถผ่านขั้นต่าง ๆ ไปได้ จะมีผลทำให้บุคคลเกิดการติดตรึง (Fixation) กับพัฒนาการในขั้นนั้น ๆ แบ่งออกได้เป็น 5 ขั้น คือ
           1. ขั้นปาก (Oral stage) อายุแรกเกิด – 1 ปีแรก ปากจะเป็นแหล่งของการสร้าความสุขความพอใจให้กับเด็ก ถ้าบุคคลไม่ผ่านขั้นปาก จะมีผลให้มีบุคลิกภาพที่เป็นปัญหาเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เช่น มีกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปาก อันได้แก่ กินจุบ กินจิบ นินทาว่าร้าย กัดเล็บ ด่าทอ สูบบุหรี่ เป็นต้น
           2. ขั้นทวารหนัก (Anal stage) อยู่ในช่วงอายุ 1 – 3 ปี ในช่วงนี้เด็กจะได้รับการฝึกหัดการขับถ่าย บริเวณทวารหนักจึงเป็นแหล่งของการแสวงหาความพึงพอใจของเด็ก ถ้าพ่อแม่ฝึกหัดให้เด็กอย่างละมุนละม่อม เด็กจะมีความพึงพอใจ แต่ถ้าพ่อแม่บังคับ ข่มขู่ หรือเข้มงวดในการฝึกหัดเด็ก เด็กจะเกิดความคับข้องใจ และเมื่อโตขึ้นจะมีบุคลิกภาพ จุกจิกจู้จี้ ระเบียบจัด ดื้อรั้น และขี้เหนียว
           3. ขั้นอวัยวะสืบพันธุ์ (Phallic stage) อยู่ในช่วงอายุ 3 – 5 ปี แหล่งของความสุขความพึงพอใจอยู่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ เป็นระยะที่เด็กจะรักพ่อแม่ที่เป็นเพศตรงข้าม โดยเด็กชายจะรักแม่และมีความรู้สึกว่าพ่อเป็นคู่แข่งกับตน เรียกปมนี้ว่า ปมออดิปุส (Oedipus complex) ในขณะที่เด็กหญิงจะรักพ่อและความรู้สึกเช่นเดียวกับเด็กชาย คือมีความรู้สึกว่าแม่เป็นคู่แข่งของตน ซึ่งเกิดปมที่เรียกว่า อิเล็กตร้า (Electra complex) โดยจะเลียนแบบพ่อหรือแม่ที่เป็นเพศเดียวกันกับตน เพื่อให้พ่อหรือแม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตนมารัก เพราะเด็กรู้ว่าพ่อรักแม่ และแม่รักพ่อ
           4. ขั้นฟักตัว (Latency stage) อายุ 5 – 12 ปี เป็นช่วงที่พลังทางเพศไม่ไปอยู่ที่อวัยวะใดเลย จึงเป็นระยะที่เด็กมีความสนใจในสิ่งแวดล้อม เป็นช่วงที่เด็กสนใจเอกลักษณ์บทบาททางเพศของตนเอง จึงไม่ได้เบนความสนใจไปสู่เพศตรงกันข้าม
           5. ขั้นวัยรุ่น (Genital stage) อายุ 12 - 20 ปี เป็นระยะที่บุคคลเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนเพศจึงเริ่มทำงาน เด็กจึงหันไปสนใจเพศตรงข้าม



      2. ทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน
          ได้เริ่มต้นตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ซึ่งมีความครอบคลุมกว่าของฟรอยด์ อิริคสันได้อธิบายวิกฤติของพัฒนาการ ประกอบด้วยลักษณะที่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ในรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในแต่ละขั้น คือ

           1. อายุ 0 – 1 ปี ความไว้วางใจ VS. ความไม่ไว้วางใจ
           2. อายุ 2 – 3 ปี ความเป็นอิสระ VS. ความละอายสงสัยไม่แน่ใจ
           3. อายุ 4 – 5 ปี ความคิดริเริ่ม VS. ความรู้สึกผิด
           4. อายุ 6 – 11 ปี ความขยันหมั่นเพียร VS. ความรู้สึกมีปมด้อย
           5. อายุ 11 – 18 ปี เอกลักษณ์ในบทบาท VS. ความสับสนในบทบาท
           6. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความใกล้ชิดสนิทสนม VS. ความโดดเดี่ยว
           7. วัยกลางคน การคิดถึงส่วนรวม VS. การคำนึงถึงแต่ตนเอง
           8. วัยชรา ความมั่นคงสมบูรณ์ VS. ความสิ้นหวัง



      3. ทฤษฎีการพัฒนาทางสติปัญญาของเพียเจท์
          เชื่อว่าพัฒนาการทางสติปัญญาได้เกิดขึ้นในเด็กจากการที่ได้มีการสำรวจสิ่งแวดล้อม จะทำให้เด็กมีการพัฒนาโครงสร้างทางสติปัญญาหรือสกีมาที่ซับซ้อนขึ้น จะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะคือ
           1. ระยะประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensorimotor period) (0 – 2 ปี) ในระยะนี้เด็กจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยใช้ประสาทสัมผัส กิจกกรมในช่วงนี้ของเด็กจะได้แก่ การมองดูสิ่งต่าง ๆ การรับสัมผัส การได้ยิน การดูด การกลืน ในระยะแรกของการสำรวจสิ่งแวดล้อม เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างไม่ตั้งใจ จากนั้นต่อมาจึงเป็นการสำรวจอย่างตั้งใจมากขึ้น
           2. ระยะคิดการก่อนปฏิบัติการ (Preoperational thought period) (2 – 7 ปี) วัยนี้เด็กจะมีการเรียนรู้การใช้ภาษาและมีการใช้สัญลักษณ์ ซึ่งสะท้อนได้จากกิจกรรมการเล่นของเด็ก ซึ่งจะแสดงออกกับสิ่งไม่มีชีวิตราวกับว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งลักษณะดังกล่าวเรียกว่า ความคิดที่เชื่อว่าวัตถุสิ่งของมีชีวิต (Animism) สามารถสังเกตได้จากการพูดของเด็ก เด็กในระยะนี้จะมีความสามารถจัดแบ่งวัตถุสิ่งของออกเป็นกลุ่มได้ตามความคล้ายคลึงกันของวัตถุสิ่งของนั้น แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้อย่างชัดเจนของลักษณะที่ใช้ในการจัดกลุ่ม
           3. ระยะการคิดแบบปฏิบัติการด้วยรูปธรรม (Concrete operations period) (7 – 11 ปี) ระยะนี้เด็กมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของการจำแนกประเภทได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
           4. ระยะปฏิบัติการคิดแบบนามธรรม (Formal operations period) (11 – 15 ปี) ในช่วงวัยรุ่น จะเป็นช่วงที่เด็กมีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ สามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นเงื่อนไข แก้ปัญหาได้เหมือนผู้ใหญ่ (แต่อาจด้อยประสบการณ์กว่า)





      4. ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคห์ลเบิร์ก
          ผู้เสนอทฤษฎีนี้คือ ลอเรนซ์ โคห์ลเบิร์ก โดยยึดแนวทางการศึกษามาจากงานวิจัยของเพียเจท์ ประกอบด้วยกันทั้งหมด 6 ขั้น โดยแบ่งออกเป็นระดับของการให้เหตุผลทางจริยธรรม 3 ระดับ คือ
          ระดับที่ 1 ระดับก่อนกฎเกณฑ์ (Preconventional morality) อายุ 2 – 10 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ
               ขั้นที่ 1 หลักการหลีกเลี่ยงมิให้ถูกลงโทษ (อายุ 2 – 7 ปี) ในระยะนี้เด็กจะเชื่อกฎเกณฑ์ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ
ขั้นที่ 2 หลักการได้รับรางวัล (อายุ 7 – 10 ปี) บุคคลจะคล้อยตามกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อที่จะได้รับรางวัล
          ระดับที่ 2 ระดับตามกฎเกณฑ์ (Conventional morality) อายุ 10 – 16 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ
               ขั้นที่ 3 หลักการทำตามความเห็นของผู้อื่น (อายุ 10 – 13 ปี) บุคคลจะกระทำพฤติกรรมเพื่อที่จะให้ผู้อื่นเขายอมรับในตัวเขา หรือทำในสิ่งที่บุคคลอื่นเห็นว่าดี
               ขั้นที่ 4 หลักการทำตามหน้าที่ (อายุ 13 – 16 ปี) บุคคลจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม การคล้อยตามจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำหนิ การประณาม และความรู้สึกผิดจากสังคม
          ระดับที่ 3 ระดับเหนือกฎเกณฑ์ (Postconventional morality) อายุ 16 ปีขึ้นไป จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นด้วยกัน คือ
               ขั้นที่ 5 หลักการมีเหตุผลและเคารพตนเอง ขั้นนี้บุคคลจะคำนึงถึงความถูกต้องส่วนบุคคล เข้าใจเรื่องของสิทธิมนุษยชนยอมรับกฎเกณฑ์แบบประชาธิปไตย ควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบโดยไม่กระทำอะไรที่ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น
               ขั้นที่ 6 หลักการทำตามอุดมคติสากล บุคคลจะมีคุณธรรมประจำใจ มีหิริโอตัปปะ และมีเหตุผลที่เป็นของตนเองในการเลือกกระทำพฤติกรรม ในขั้นนี้ถึงมีโอกาสที่จะกระทำผิดได้ ก็เลือกที่จะไม่กระทำความผิด




GENERAL PSYCHOLOGY

❤ อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม


ความหมายของพันธุกรรม

           พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง ลักษณะที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานด้วยกระบวนการทางชีววิทยา มีสารชีวเคมีที่สำคัญ คือ ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมและทำหน้าที่ด้วยการเป็นยีน





การสร้างเซลล์สืบพันธุ์
(Gametogenesis)

           การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ จะแบ่งได้เป็น การสร้างสเปิร์ม (Spermatogenesis) และการสร้างไข่ (Oogenesis) การสร้างสเปิร์ม ในเพศชายเซลล์สืบพันธุ์ คือ สเปิร์ม ซึ่งผลิตโดยผ่านกระบวนการที่ เรียกว่า Spermatogenesis เซลล์สเปิร์ม ที่เรียกว่า Spermatozoa จะถูกผลิตโดยอัณฑะ อัณฑะจะประกอบด้วย The primordial germ cells (Primary spermatogonia) ซึ่งจะผลิต Secondary spermatogonia โดยผ่านการแบ่งแบบไมโตซิส Spermatogonia จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ Primary spermatocytes (Meiocytes) จากนั้นจะมีการแบ่งแบบไมโอซิสครั้งที่ 1 ซึ่งจะได้ Secondary spermatocytes จำนวน 2 เซลล์ และมีการแบ่งแบบไมโอซิสครั้งที่ 2 อีกครั้งจะได้ Spermatids ที่มีการลดโครโมโซมลงครึ่งหนึ่ง จำนวน 4 เซลล์ ในที่สุดจะพัฒนาไปเป็น Spermatozoa ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายที่เจริญเต็มที่แล้วจำนวน 4 เซลล์

           การสร้างไข่ในเพศหญิง จะเริ่มต้นจาก Primordial germ cells (Primary oogonia) ซึ่งจะแบ่งแบบไมโตซิส และได้เป็น Secondary oogonia เซลล์เหล่านี้จะเปลี่ยนไปเป็น Oocytes ตามภาพจาก Primary oocyte จะผ่านการแบ่งแบบไมโอซิสครั้งที่ 1 ซึ่งจะได้เซลล์ 2 เซลล์ คือ เซลล์ใหญ่เรียกว่า Secondary oocyte ส่วนเซลล์เล็กเรียกว่า First polar body ในการแบ่ง ไมโอซิสครั้งที่ 2 Secondary oocyte ได้ผลิตเซลล์จำนวน 2 เซลล์ เซลล์หนึ่งเป็นเซลล์เล็กมาก เรียกว่า Second polar body อีกเซลล์หนึ่งเป็นเซลล์ใหญ่เรียกว่า Ootid ที่เจริญเต็มที่อย่างรวดเร็วไปในเซลล์ไข่ หรือ Ovum The first polar body อาจจะแบ่งหรืออาจจะไม่แบ่งก็ได้ มีเพียง Ovum ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นสุดท้ายในเพศหญิงจะมีเพียงเซลล์สืบพันธุ์ที่เจริญเติบโต (Ovum) เพียง 1 เซลล์เท่านั้น ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากเพศชายที่ท้ายสุดจะได้เซลล์สืบพันธุ์ถึง 4 เซลล์





โครโมโซมในมนุษย์และการกำหนดเพศ

โครโมโซมในมนุษย์มี 46 โครโมโซม ซึ่งโครโมโซมนี้ได้มาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง โดยผ่านกระบวนการลดโครโมโซมลงตามที่ได้อธิบาย สำหรับโครโมโซมมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ออโตโซม (Autosome) ซึ่งหมายถึง โครโมโซมร่างกาย มีจำนวน 22 คู่ หรือ 44 โครโมโซม

2. โครโมโซมเพศ (Sex chromosome) จะเป็นโครโมโซมที่เพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกัน มีจำนวน 1 คู่ คือ เพศชาย มีโครโมโซมเพศเป็น XY ส่วนเพศหญิง มีโครโมโซมเพศเป็น XX

ดังนั้นเราจึงสามารพเขียนโครโมโซมของมนุษย์เพศชายและเพศหญิง ได้ดังนี้

เพศชาย มีโครโมโซมปกติ คือ 44 + XY

เพศหญิง มีโครโมโซมปกติ คือ 44 + XX





การเกิดแฝด

ประเภทของฝาแฝดนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

1. ฝาแฝดแท้ หรือฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน (Identical twins) ฝาแฝดจะมีหน้าตาเหมือนกัน เกิดจากไข่และสเปิร์มเซลล์เดียวกัน และมีการแบ่งเซลล์แบบไมโตซิสแยกเป็นเซลล์คนละกลุ่ม จึงทำให้ฝาแฝดประเภทนี้มีรูปร่างหน้าตา หมู่เลือด และเพศเหมือนกัน

2. ฝาแฝดเทียม หรือฝาแฝดไข่คนละใบ (Fraternal twins) ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นฝาแฝดแบบพี่น้อง เนื่องจากลักษณะที่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมแตกต่างกัน เพราะว่าเกิดจากไข่และสเปิร์มคนละเซลล์ ซึ่งแม่อาจจะมีไข่ตกในเดือนนั้นมากกว่า 1 เซลล์ ฝาแฝดแบบนี้อาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างกัน มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน ตลอดจนอาจมีหมู่เลือดเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้





อิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อลักษณะบุคคล

           ความผิดปกติหลายอย่างที่เป็นผลมาจากยีนและโครโมโซม ซึ่งความผิดปกตินี้ก่อให้เกิดความพิการของร่างกาย รูปร่างลักษณะหน้าตา เชาวน์ปัญญา ตลอดจนทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งสามารถแบ่งความผิดปกติออกได้เป็นดังนี้

1. ความผิดปกติของโครโมโซมร่างกาย

1.1 Down’s syndrome ลักษณะที่พบได้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับความผิดปกติในกรณีอื่นๆ มีลักษณะเด่น คือ มีสติปัญญาต่ำมาก ตาเฉียงชี้ขึ้น ปากแคบ ลิ้นโคคับปาก รูปร่างไม่ได้สัดส่วน

1.2 Patau’s syndrome ลักษณะมีสมองพิการ หูหนวก ปากแหว่งเพดานโหว่ ปัญญาอ่อน ประสาทตาผิดปกติ จมูกมีเนื้อยื่น มีจำนวนนิ้วเกิน มีอวัยวะภายในผิดปกติ

1.3 Cri-du-chat syndrome หรือ Cat cry syndrome ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเด็กที่เกิดมาจะมีเสียงร้องเหมือนแมว หน้ากลม ศีรษะเล็ก ตาทั้งสองข้างเฉียงลงล่างและห่างกัน

1.4 Edward’s syndrome มีลักษณะปัญญาอ่อน คางเล็ก ศีรษะเล็ก มีท้ายทอยโหนกออก กล้ามเนื้อเกร็ง มีลักษณะกำมือและนิ้วมือเกยกัน





2. ความผิดปกติของโครโมโซมเพศ

2.1 Turner’s syndrome เป็นเพศหญิง รูปร่างเตี้ย คอสั้น ลำคอเป็นแผ่นกว้าง หน้าตาเหมือนคนแก่ ตาผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน เป็นหมัน ไม่มีรังไข่และสติปัญญาต่ำ

2.2 Triple – syndrome ลักษณะโดยทั่วๆไปเหมือนผู้หญิงปกติ แต่ไม่สมบูรณ์เท่าผู้หญิงปกติ บางคนเป็นหมันและสติปัญญาต่ำ

2.3 Klinefelter’s syndrome เป็นเพศชายแต่มีลักษณะภายนอกบางอย่างของเพศหญิงผสม เช่น มีหน้าอก สะโพกผาย แต่มีอัณฑะเล็ก ไม่สามารถผลิตสเปิร์มได้ จึงเป็นหมัน และมีสติปัญญาต่ำหรือปัญญาอ่อน

2.4 XYY syndrome มีลักษณะรูปร่างสูงร่าง บึกบึน มีนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ปัญญาอ่อน





3. ความผิดปกติของเมตาโบลิซึม

3.1 Phenylketonuria หรือเรียกว่า PKU เป็นผลมาจากความผิดปกติในการย่อยโปรตีน โดยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเอนไซม์ ในการที่จะเปลี่ยนเฟนิลอะลานีนให้เป็นสารไทโรซีนได้ ทำให้ปัญญาอ่อน สีตา สีผมและสีผิวจะจางกว่าคนปกติ

3.2 โรคผิวเผือก ผู้ป่วยจะขาดสารเมลานิน ทำให้มีอาการผิวขาวซีด ตาสีจาง ม่านตาโปร่งแสง ไม่สามารถปกป้องผิวจากรังสีของแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าคนปกติ

3.3 แอลแคพโตนยูเรียซึ่งไม่สามารถสร้างเอนไซม์ เพื่อย่อยสาร Homegentisic ทำให้มีการสะสมสารนี้ในเลือด และร่างกายจะขับสารนี้ออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งจะมีสีดำและมีอาการปวดตามข้อ

3.4 โรคซิกเกิลเซลล์อะนีเมีย ซึ่งมีอาการเม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์เป็นรูปโค้งครึ่งเสี้ยว พบในคนผิวดำ มีอาการโลหิตจาง



อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อบุคคล

1. สิ่งแวดล้อมก่อนเกิด หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิมาจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด ดังนั้น อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมก่อนเกิดนั้นจึงขึ้นอยู่กับสุขภาพของมารดาเป็นสำคัญ อันได้แก่

1) การบริโภคอาหารของมารดา ควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

2) ยา การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

3) บุหรี่และสุรา มารดาที่สูบบุหรี่มากระหว่างการตั้งครรภ์อาจมีผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ

4) สารกัมมันตภาพรังสี ในระหว่างตั้งครรภ์ควรเลี่ยงการรับรังสี X-ray

5) สุขภาพของมารดา

6) อุบัติเหตุ ควรระวังไม่ให้เกิดการเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่อาจเป็นอันตรายได้

7) สุขภาพจิตของมารดา จะส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์โดยตรง

2. สิ่งแวดล้อมขณะกำลังเกิด หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อทารกตั้งแต่เริ่มคลอดจากครรภ์ ซึ่งในช่วงเวลานี้แม้จะไม่กินเวลานานนัก แต่ปัญหาบางประการก็อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อทารกได้ง่าย ได้แก่

1) ถ้ามีการกระทบกระเทือนต่อระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายโดยเฉพาะส่วนสมอง

2) ถ้าสมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนจากการทำคลอดของแพทย์

3) ในกรณีที่ช่องคลอดมารดาติดเชื้อกามโรคโกโนเรีย หรือหนองใน เชื้อโรคจะทำลายเยื่อบุนัยน์ตาของทารกได้

3. สิ่งแวดล้อมหลังคลอด หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลนับตั้งแต่คลอดออกมาจากครรภ์มายังโลกภายนอก สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ได้แก่

1) สถาบันครอบครัว ถือว่าเป็นสถาบันแห่งแรกที่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของบุคคลในด้านต่าง ๆ

2) สถาบันการศึกษา จะเป็นแหล่งหล่อหลอมพฤติกรรมของบุคคลในการใช้ชีวิตในสังคม

3) สถาบันศาสนา มีหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลในศาสนานั้น ๆ

4) สถาบันสื่อมวลชน มีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ทั้งทางบวกและทางลบ





การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการ
ได้แก่

1. ควรมีการวางแผนล่วงหน้าในการตั้งครรภ์ เพื่อให้ผู้เป็นแม่มีความพร้อมทางอารมณ์และเจตคติที่ดีต่อการมีบุตร

2. สุขภาพของมารดา ในขณะที่มารดาตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพให้ดี

3. วัยในการมีบุตร วัยที่เหมาะสมในการมีบุตรคือ ช่วงอายุ 21-30 ปี

4. อารมณ์ของมารดา มารดาควรหลีกเลี่ยงการเกิดอารมณ์ในทางลบ เพราะอารมณ์ในทางลบจะก่อให้เกิดความผิดปกติทางพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้

5. การจัดสิ่งแวดล้อมหลังคลอด พ่อแม่ควรคำนึงถึงเด็กและให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาสถาบันศาสนา และสถาบันสื่อมวลชน ด้วย





ความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

พฤติกรรมของบุคคลนั้นไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะการแสดงปฏิกิริยาร่วมกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันนั้น ได้แก่ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม พันธุกรรมนั้นเป็นสาเหตุประการแรกที่ทำให้บุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อบุคคลได้ออกจากนอกสถาบันครอบครัวเพื่อไปสู่สถาบันอื่น ๆ สิ่งแวดล้อมจึงเข้ามามีผลต่อความแตกต่างของแต่ละบุคคล






อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความแตกต่างของบุคคลในด้านต่างๆ

1.ความแตกต่างทางด้านร่างกาย (Physical) เป็นความแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด ซึ่งรับอิทธิพลมาจากพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราสามารถจำแนกความแตกต่างทางด้านร่างกายของแต่ละบุคคล ได้แก่

1) ลักษณะโครงสร้างทางร่างกาย เช่น ลักษณะสีผิว หน้าตา ลักษณะรูปร่าง

2) เพศ ทารกที่เกิดใหม่จะได้รับอิทธิพลทางเพศมาจาก เซ็กซ์โครโมโซม โดยตรง

3) ชนิดของกลุ่มโลหิต โดยปกติแล้วมนุษย์จะมีกลุ่มโลหิตเพียง 4 กลุ่ม คือ A, B, O และ AB

4) การทำงานของอวัยวะภายใน มีการทำงานของระบบภายในร่างกายที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ความดันเลือด เป็นต้น

5) ลักษณะของโรคภัยไข้เจ็บ ข้อบกพร่องทางร่างกายบางประการที่เกิดจากพันธุกรรม

2. ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา (Intelligence)

สติปัญญา หมายถึง ความสามารถทางสมองในการจำ คิด วิเคราะห์ หาเหตุผล เรียนรู้ และการกระทำกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

3. ความแตกต่างด้านอารมณ์ (Emotion)

อารมณ์ (Emotion) หมายถึง สภาวะของจิตใจที่มีการ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าอารมณ์เป็นผลมาจากการถูกกระตุ้น จากสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายใน

4. ความแตกต่างทางสังคม (Social) หมายถึง ความแตกต่างด้านการแสดงออกทางพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นในสังคม ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพกับสมาชิกอื่นในสังคม การวางตัว และการปรับตัว เป็นต้น

5. ความแตกต่างด้านบุคลิกภาพ (Personality)

บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่แสดงออกมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป และเป็นพฤติกรรมโดยส่วนรวมที่ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยและความเคยชิน





❤ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา

จิตวิทยา คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) , อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น) และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบคุมและแสดงออกของพฤติกรรม



การขยายตัวทางจิตวิทยา

     ปฏิบัติการทดลองทางจิตวิทยาห้องแรก ถูกสร้างขึ้นโดย Wilhelm Wundt ในปี ค.ศ. 1879 ที่เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี โดยมีการจัดตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้น คือ กลุ่มโครงสร้างนิยม (Structuralism) การศึกษาจิตต้องศึกษาส่วนย่อย ๆ ที่ประกอบขึ้นมา ใช้วิธีการพื้นฐานทางจิตวิทยา คือ การสังเกตตนเอง หรือที่เรียกว่า การตรวจพินิจจิต (Introspection)

     ในปี ค.ศ. 1890 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้นใหม่อีก คือ กลุ่มหน้าที่นิยม (Functionalism) นักจิตวิทยากลุ่มนี้เห็นว่า จิตวิทยาควรเป็นการศึกษาวิธีการที่คนเราใช้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่บุคคลนั้นพอใจ และเป็นการเพิ่ม ประสิทธิภาพของบุคคลนั้นด้วย นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจ ความรู้สำนึก (consciousness) เพราะความรู้สำนึกเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลเลือกกระทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ความรู้สำนึกเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน ไม่สามารถแยกวิเคราะห์เป็นส่วนย่อยได้ นักจิตวิทยากลุ่มนี้สนใจศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมมากกว่าการศึกษาพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาให้เห็น

     ในช่วงเวลาเดียวกัน ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้เสนอทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic theory) โดยมีวิธีการศึกษา จากการสังเกตและรวบรวมประวัติคนไข้ที่มารับการบำบัดรักษา ฟรอยด์เชื่อว่าความไร้สำนึกมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของพฤติกรรม และเน้นถึงความต้องการทางเพศตั้งแต่วัยเด็ก



     ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จอห์น บี วัตสัน ได้ก่อตั้ง กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behavioralism) โดยเห็นว่า การตรวจพินิจจิตเป็นวิธีการที่ไม่ดีพอ การศึกษาจิตวิทยาควรจะหลีกเลี่ยงการศึกษาจากความรู้สำนึก แล้วหันไปศึกษา พฤติกรรมที่มองเห็นได้ เพื่อให้สามารถทำนายและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ และเน้นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมว่ามี อิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่าพันธุกรรมอีกด้วย

     ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศเยอรมนีได้เกิดกลุ่มจิตวิทยาขึ้น ได้แก่ จิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์(Gestalt Psychology) แนวคิดของจิตวิทยากลุ่มนี้เน้นว่า การทำงานของจิตเป็นการทำงานของส่วนรวม ดังนั้นจึงสนใจศึกษาส่วนรวมมากกว่าส่วน ย่อย แนวคิดนี้เริ่มมีบทบาทขึ้นเมื่อนักจิตวิทยาชาวอเมริกันเริ่มให้ความสนใจในปัญหาของการรับรู้ การคิดแก้ปัญหาและ บุคลิกภาพ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มจิตวิทยาการรู้การเข้าใจ (Cognitive psychology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกภายใน ที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล และต่อจากนั้นมา จิตวิทยาก็เป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปและนิสิตนักศึกษามาก ขึ้นเรื่อยๆ




สาขาวิชาจิตวิทยา

      1.จิตวิทยาคลีนิค (Clinical Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์และการรักษาความผิดปกติของจิตวิทยา เช่น โรงพยาบาลจิตเวช คลีนิคให้คำปรึกษา ศูนย์สุขภาพ
      2.จิตวิทยาการให้คำปรึกษา (Counseling Psychology) นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาให้บุคคลมีการปรับตัวต่อปัญหาทางอารมณ์ หรือปัญหาส่วนตัว ส่วนมากจะทำงานในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย
      3.จิตวิทยาโรงเรียนและจิตวิทยาการศึกษา (Educational and School Psychology) มีหน้าที่ในการวิเคราะห์และปรับปรุงการศึกษาอย่างมีแบบแผน
      4.จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) เป็นการศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์โดยทดลองผ่านสัตว์โดยการทำวิจัยในห้องทดลอง
      5.สรีระจิตวิทยา (Physiological Psychology) ได้ศึกษากระบวนการพื้นฐานเดียวกันกับนักจิตวิทยาการทดลองแต่นักสรีระวิทยาจะศึกษากระบวนการพื้นฐานว่าถูกควบคุมโดยระบบประสาทอย่างไร
      6.จิตวิทยาบุคลิกภาพ (Personality Psychology) สนใจความแตกต่างด้านพฤติกรรมที่มีปัจจัยจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมว่ามีอิทธิพลต่อลักษณะทางบุคลิกภาพของบุคคล
      7.จิตวิทยาสังคม(Social Psychology) แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของบุคลิกภาพแต่มีปัจจัยแวดล้อมอื่น โดยเฉพาะบุคคลแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการกระทำของบุคคล
      8.จิตวิทยาพัฒนาการ(Developmental Psychology) ให้ความสนใจในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบที่ปรากฏในบุคคลตลองช่วงชีวิตของบุคคลโดยศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลง 4 ด้าน คือ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา
      9.จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology) ให้ความสำคัญกับลักษณะต่าง ๆของพฤติกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงาน





ประโยชน์ของจิตวิทยา

      1. ทำให้บุคคลมีความเข้าใจตนเองและผู้อื่น ทำให้สามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมผู้อื่นได้
      2. ช่วยทำนายพฤติกรรมของบุคคอื่น
      3. นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ





GENERAL PSYCHOLOGY