❤ พัฒนาการของมนุษย์


ความหมายของการเจริญเติบโตและพัฒนาการ

     การเจริญเติบโต (Growth) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เน้นไปที่ทางด้านร่างกาย ขนาดและสัดส่วน เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณและง่ายต่อการวัด เช่นส่วนสูง น้ำหนัก
     พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่มีความครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย ด้านการคิด ด้านบุคลิกภาพ และด้านสังคมของบุคคล



วุฒิภาวะและการเรียนรู้

     วุฒิภาวะ (Maturation) หมายถึง รูปแบบของพฤติกรรมในเชิงชีววิทยาที่มีความสัมพันธ์กับอายุ เป็นกระบวนการที่ควบคุมทางพันธุกรรมของการเจริญเติบโต
     การเรียนรู้ (Learning) หมายถึง รูปแบบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือฝึกหัด การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีวุฒิภาวะเป็นพื้นฐาน


     วุฒิภาวะและการเรียนรู้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการพัฒนาการ



พัฒนาการในวัยต่าง ๆ

     วัยทารก จะมีช่วงเวลาตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี วัยทารกจะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากบุคคลอื่นโดยเฉพาะแม่ ในวัยนี้จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเห็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างทางกล้ามเนื้อ

     วัยเด็ก เป็นวัยที่อยู่ในช่วงอายุ 2 – 11 ปี มีการพัฒนากล้ามเนื้อที่ใช้ในการเล่น มักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว พัฒนาการทางสติปัญญาจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในตอนปลายของวัยนี้ พัฒนาการทางสังคมจะได้รับอิทธิพลการเลียนแบบจากพ่อแม่ ลักษณะเด่น ในวัยนี้คือ ลักษณะบทบาททางสังคม ความกดดันจากเพื่อนในวัยเดียวกัน และการสร้างมิตรภาพ

     วัยรุ่น เด็กชายจะมีอายุประมาณ 13 ปี ส่วนเด็กหญิงจะมีอายุประมาณ 11 ปี และจะสิ้นสุดวัยนี้เมื่ออายุ 18 – 21 ปี พัฒนาการทางกายจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีส่วนสูง และน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น โดยเด็กหญิงเริ่มมีประจำเดือน ส่วนเด็กชายเริ่มมีการฝันเปียกเป็นครั้งแรก พัฒนาการทางสังคมและบุคลิกภาพ เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ ทำให้เด็กวัยรุ่นมักมีปัญหาในช่วงวัยนี้ พัฒนาการในเอกลักษณ์ของตนเองของวัยรุ่น เป็นลักษณะที่อยู่ภายใต้ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแรงขับ ความสามารถและความเชื่อของบุคคล การสร้างมิตรภาพ วัยรุ่นจะชอบเพื่อนที่มีความสนใจ บุคลิกภาพ และมีลักษณะนิสัยอารมณ์คล้ายคลึงกับตน จะใช้เวลาจำนวนมากกับเพื่อนสนิทมากกว่าพ่อแม่ของตน

     วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่พัฒนาต่อมาจากช่วงวัยรุ่น การแบ่งวัยผู้ใหญ่ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงอายุ คือ
          วัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 18 – 45 ปี จัดเป็นระยะที่ถือได้ว่า “ดีที่สุดของชีวิต” ร่างกายจะมีการเจริญเติบโตทางกายสูงสุดในระหว่างช่วงอายุ 20 ปี มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และส่วนต่าง ๆ ของอวัยวะในร่างกายทำงานได้สูงสุด
          วัยกลางคน อายุ 45 – 65 ปี ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงจากวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เส้นผมจะเริ่มเสื่อมลงอายุประมาณ 50 ปี บุคคลจะมีผมสีเทา ผิวหนังเริ่มเหี่ยวลง ระบบไหลเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพลดลง ในช่วงวัยนี้จัดได้ว่าเป็นวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเรียกว่า menopause
          วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย หรือวัยชรา อายุ 65 ปีขึ้นไป – ตาย กระบวนการเสื่อมในร่างกายเริ่มปรากฏอย่างรวดเร็วขึ้น ผิวหนังมีการหดตัวเหี่ยวย่นอย่างต่อเนื่อง ผมหงอกเร็วขึ้น ฟันหักต้องใช้ฟันปลอม มีความเสื่อมลงในระบบไหลเวียนโลหิต ระบบการหายใจ และระบบกล้ามเนื้อ รวมทั้งอวัยวะรับสัมผัสก็มีประสิทธิภาพลดน้อยลงทีละน้อย ร่างกายมักสูญเสียความสามารถที่จะปกป้องตนเองจากโรคต่าง ๆ



ทฤษฎีพัฒนาการ

      1. ทฤษฎีพัฒนาการทางบุคลิกภาพของฟรอยด์
          ฟรอยด์ได้เสนอระยะพัฒนาการซึ่งมี 5 ขั้น จากตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น บางครั้งจะเรียกว่า ทฤษฎีพัฒนาการทางเพศของฟรอยด์ ซึ่งแต่ละขั้นของพัฒนาการจะแปรเปลี่ยนไปตามอวัยวะแต่ละส่วน ถ้าบุคคลไม่สามารถผ่านขั้นต่าง ๆ ไปได้ จะมีผลทำให้บุคคลเกิดการติดตรึง (Fixation) กับพัฒนาการในขั้นนั้น ๆ แบ่งออกได้เป็น 5 ขั้น คือ
           1. ขั้นปาก (Oral stage) อายุแรกเกิด – 1 ปีแรก ปากจะเป็นแหล่งของการสร้าความสุขความพอใจให้กับเด็ก ถ้าบุคคลไม่ผ่านขั้นปาก จะมีผลให้มีบุคลิกภาพที่เป็นปัญหาเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เช่น มีกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปาก อันได้แก่ กินจุบ กินจิบ นินทาว่าร้าย กัดเล็บ ด่าทอ สูบบุหรี่ เป็นต้น
           2. ขั้นทวารหนัก (Anal stage) อยู่ในช่วงอายุ 1 – 3 ปี ในช่วงนี้เด็กจะได้รับการฝึกหัดการขับถ่าย บริเวณทวารหนักจึงเป็นแหล่งของการแสวงหาความพึงพอใจของเด็ก ถ้าพ่อแม่ฝึกหัดให้เด็กอย่างละมุนละม่อม เด็กจะมีความพึงพอใจ แต่ถ้าพ่อแม่บังคับ ข่มขู่ หรือเข้มงวดในการฝึกหัดเด็ก เด็กจะเกิดความคับข้องใจ และเมื่อโตขึ้นจะมีบุคลิกภาพ จุกจิกจู้จี้ ระเบียบจัด ดื้อรั้น และขี้เหนียว
           3. ขั้นอวัยวะสืบพันธุ์ (Phallic stage) อยู่ในช่วงอายุ 3 – 5 ปี แหล่งของความสุขความพึงพอใจอยู่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ เป็นระยะที่เด็กจะรักพ่อแม่ที่เป็นเพศตรงข้าม โดยเด็กชายจะรักแม่และมีความรู้สึกว่าพ่อเป็นคู่แข่งกับตน เรียกปมนี้ว่า ปมออดิปุส (Oedipus complex) ในขณะที่เด็กหญิงจะรักพ่อและความรู้สึกเช่นเดียวกับเด็กชาย คือมีความรู้สึกว่าแม่เป็นคู่แข่งของตน ซึ่งเกิดปมที่เรียกว่า อิเล็กตร้า (Electra complex) โดยจะเลียนแบบพ่อหรือแม่ที่เป็นเพศเดียวกันกับตน เพื่อให้พ่อหรือแม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตนมารัก เพราะเด็กรู้ว่าพ่อรักแม่ และแม่รักพ่อ
           4. ขั้นฟักตัว (Latency stage) อายุ 5 – 12 ปี เป็นช่วงที่พลังทางเพศไม่ไปอยู่ที่อวัยวะใดเลย จึงเป็นระยะที่เด็กมีความสนใจในสิ่งแวดล้อม เป็นช่วงที่เด็กสนใจเอกลักษณ์บทบาททางเพศของตนเอง จึงไม่ได้เบนความสนใจไปสู่เพศตรงกันข้าม
           5. ขั้นวัยรุ่น (Genital stage) อายุ 12 - 20 ปี เป็นระยะที่บุคคลเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนเพศจึงเริ่มทำงาน เด็กจึงหันไปสนใจเพศตรงข้าม



      2. ทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน
          ได้เริ่มต้นตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ซึ่งมีความครอบคลุมกว่าของฟรอยด์ อิริคสันได้อธิบายวิกฤติของพัฒนาการ ประกอบด้วยลักษณะที่ตรงข้ามกันเป็นคู่ ในรูปแบบของการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในแต่ละขั้น คือ

           1. อายุ 0 – 1 ปี ความไว้วางใจ VS. ความไม่ไว้วางใจ
           2. อายุ 2 – 3 ปี ความเป็นอิสระ VS. ความละอายสงสัยไม่แน่ใจ
           3. อายุ 4 – 5 ปี ความคิดริเริ่ม VS. ความรู้สึกผิด
           4. อายุ 6 – 11 ปี ความขยันหมั่นเพียร VS. ความรู้สึกมีปมด้อย
           5. อายุ 11 – 18 ปี เอกลักษณ์ในบทบาท VS. ความสับสนในบทบาท
           6. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความใกล้ชิดสนิทสนม VS. ความโดดเดี่ยว
           7. วัยกลางคน การคิดถึงส่วนรวม VS. การคำนึงถึงแต่ตนเอง
           8. วัยชรา ความมั่นคงสมบูรณ์ VS. ความสิ้นหวัง



      3. ทฤษฎีการพัฒนาทางสติปัญญาของเพียเจท์
          เชื่อว่าพัฒนาการทางสติปัญญาได้เกิดขึ้นในเด็กจากการที่ได้มีการสำรวจสิ่งแวดล้อม จะทำให้เด็กมีการพัฒนาโครงสร้างทางสติปัญญาหรือสกีมาที่ซับซ้อนขึ้น จะแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะคือ
           1. ระยะประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (Sensorimotor period) (0 – 2 ปี) ในระยะนี้เด็กจะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมโดยใช้ประสาทสัมผัส กิจกกรมในช่วงนี้ของเด็กจะได้แก่ การมองดูสิ่งต่าง ๆ การรับสัมผัส การได้ยิน การดูด การกลืน ในระยะแรกของการสำรวจสิ่งแวดล้อม เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างไม่ตั้งใจ จากนั้นต่อมาจึงเป็นการสำรวจอย่างตั้งใจมากขึ้น
           2. ระยะคิดการก่อนปฏิบัติการ (Preoperational thought period) (2 – 7 ปี) วัยนี้เด็กจะมีการเรียนรู้การใช้ภาษาและมีการใช้สัญลักษณ์ ซึ่งสะท้อนได้จากกิจกรรมการเล่นของเด็ก ซึ่งจะแสดงออกกับสิ่งไม่มีชีวิตราวกับว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ซึ่งลักษณะดังกล่าวเรียกว่า ความคิดที่เชื่อว่าวัตถุสิ่งของมีชีวิต (Animism) สามารถสังเกตได้จากการพูดของเด็ก เด็กในระยะนี้จะมีความสามารถจัดแบ่งวัตถุสิ่งของออกเป็นกลุ่มได้ตามความคล้ายคลึงกันของวัตถุสิ่งของนั้น แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้อย่างชัดเจนของลักษณะที่ใช้ในการจัดกลุ่ม
           3. ระยะการคิดแบบปฏิบัติการด้วยรูปธรรม (Concrete operations period) (7 – 11 ปี) ระยะนี้เด็กมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของการจำแนกประเภทได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่เห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
           4. ระยะปฏิบัติการคิดแบบนามธรรม (Formal operations period) (11 – 15 ปี) ในช่วงวัยรุ่น จะเป็นช่วงที่เด็กมีความเข้าใจในสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ สามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นเงื่อนไข แก้ปัญหาได้เหมือนผู้ใหญ่ (แต่อาจด้อยประสบการณ์กว่า)





      4. ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคห์ลเบิร์ก
          ผู้เสนอทฤษฎีนี้คือ ลอเรนซ์ โคห์ลเบิร์ก โดยยึดแนวทางการศึกษามาจากงานวิจัยของเพียเจท์ ประกอบด้วยกันทั้งหมด 6 ขั้น โดยแบ่งออกเป็นระดับของการให้เหตุผลทางจริยธรรม 3 ระดับ คือ
          ระดับที่ 1 ระดับก่อนกฎเกณฑ์ (Preconventional morality) อายุ 2 – 10 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ
               ขั้นที่ 1 หลักการหลีกเลี่ยงมิให้ถูกลงโทษ (อายุ 2 – 7 ปี) ในระยะนี้เด็กจะเชื่อกฎเกณฑ์ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ
ขั้นที่ 2 หลักการได้รับรางวัล (อายุ 7 – 10 ปี) บุคคลจะคล้อยตามกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อที่จะได้รับรางวัล
          ระดับที่ 2 ระดับตามกฎเกณฑ์ (Conventional morality) อายุ 10 – 16 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้น คือ
               ขั้นที่ 3 หลักการทำตามความเห็นของผู้อื่น (อายุ 10 – 13 ปี) บุคคลจะกระทำพฤติกรรมเพื่อที่จะให้ผู้อื่นเขายอมรับในตัวเขา หรือทำในสิ่งที่บุคคลอื่นเห็นว่าดี
               ขั้นที่ 4 หลักการทำตามหน้าที่ (อายุ 13 – 16 ปี) บุคคลจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม การคล้อยตามจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำหนิ การประณาม และความรู้สึกผิดจากสังคม
          ระดับที่ 3 ระดับเหนือกฎเกณฑ์ (Postconventional morality) อายุ 16 ปีขึ้นไป จะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นด้วยกัน คือ
               ขั้นที่ 5 หลักการมีเหตุผลและเคารพตนเอง ขั้นนี้บุคคลจะคำนึงถึงความถูกต้องส่วนบุคคล เข้าใจเรื่องของสิทธิมนุษยชนยอมรับกฎเกณฑ์แบบประชาธิปไตย ควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบโดยไม่กระทำอะไรที่ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น
               ขั้นที่ 6 หลักการทำตามอุดมคติสากล บุคคลจะมีคุณธรรมประจำใจ มีหิริโอตัปปะ และมีเหตุผลที่เป็นของตนเองในการเลือกกระทำพฤติกรรม ในขั้นนี้ถึงมีโอกาสที่จะกระทำผิดได้ ก็เลือกที่จะไม่กระทำความผิด




GENERAL PSYCHOLOGY

9 ความคิดเห็น:

  1. นายออสการ์_Karisma'11 กรกฎาคม 2553 เวลา 16:42

    หูยยยย

    เปิดมาก็เริ่มเครียดซะละ !!

    ตอบลบ
  2. อ๋อ คนเรามีการพัฒนาแบบนี้นี่เอง ^^

    ตอบลบ
  3. ละเอียดจังเลยครับ

    ขอบคุุณมากนะครับ

    ตอบลบ
  4. มีหลายทฤษฎีจังเลยเนอะ เริ่มยากขึ้นทุกทีๆ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2553 เวลา 12:12

    คนบนสุดสงสัยจะพัฒนาด้านเดียวหละมั้งนิ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2553 เวลา 18:50

    ทำไมเราไม่ค่อยฉลาดหว่า สงสัยพัฒนาการจะน้อย อิอิ

    ===>>ป้อม

    ตอบลบ