❤ อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม


ความหมายของพันธุกรรม

           พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง ลักษณะที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานด้วยกระบวนการทางชีววิทยา มีสารชีวเคมีที่สำคัญ คือ ดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมและทำหน้าที่ด้วยการเป็นยีน





การสร้างเซลล์สืบพันธุ์
(Gametogenesis)

           การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ จะแบ่งได้เป็น การสร้างสเปิร์ม (Spermatogenesis) และการสร้างไข่ (Oogenesis) การสร้างสเปิร์ม ในเพศชายเซลล์สืบพันธุ์ คือ สเปิร์ม ซึ่งผลิตโดยผ่านกระบวนการที่ เรียกว่า Spermatogenesis เซลล์สเปิร์ม ที่เรียกว่า Spermatozoa จะถูกผลิตโดยอัณฑะ อัณฑะจะประกอบด้วย The primordial germ cells (Primary spermatogonia) ซึ่งจะผลิต Secondary spermatogonia โดยผ่านการแบ่งแบบไมโตซิส Spermatogonia จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ Primary spermatocytes (Meiocytes) จากนั้นจะมีการแบ่งแบบไมโอซิสครั้งที่ 1 ซึ่งจะได้ Secondary spermatocytes จำนวน 2 เซลล์ และมีการแบ่งแบบไมโอซิสครั้งที่ 2 อีกครั้งจะได้ Spermatids ที่มีการลดโครโมโซมลงครึ่งหนึ่ง จำนวน 4 เซลล์ ในที่สุดจะพัฒนาไปเป็น Spermatozoa ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศชายที่เจริญเต็มที่แล้วจำนวน 4 เซลล์

           การสร้างไข่ในเพศหญิง จะเริ่มต้นจาก Primordial germ cells (Primary oogonia) ซึ่งจะแบ่งแบบไมโตซิส และได้เป็น Secondary oogonia เซลล์เหล่านี้จะเปลี่ยนไปเป็น Oocytes ตามภาพจาก Primary oocyte จะผ่านการแบ่งแบบไมโอซิสครั้งที่ 1 ซึ่งจะได้เซลล์ 2 เซลล์ คือ เซลล์ใหญ่เรียกว่า Secondary oocyte ส่วนเซลล์เล็กเรียกว่า First polar body ในการแบ่ง ไมโอซิสครั้งที่ 2 Secondary oocyte ได้ผลิตเซลล์จำนวน 2 เซลล์ เซลล์หนึ่งเป็นเซลล์เล็กมาก เรียกว่า Second polar body อีกเซลล์หนึ่งเป็นเซลล์ใหญ่เรียกว่า Ootid ที่เจริญเต็มที่อย่างรวดเร็วไปในเซลล์ไข่ หรือ Ovum The first polar body อาจจะแบ่งหรืออาจจะไม่แบ่งก็ได้ มีเพียง Ovum ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ ดังนั้นสุดท้ายในเพศหญิงจะมีเพียงเซลล์สืบพันธุ์ที่เจริญเติบโต (Ovum) เพียง 1 เซลล์เท่านั้น ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากเพศชายที่ท้ายสุดจะได้เซลล์สืบพันธุ์ถึง 4 เซลล์





โครโมโซมในมนุษย์และการกำหนดเพศ

โครโมโซมในมนุษย์มี 46 โครโมโซม ซึ่งโครโมโซมนี้ได้มาจากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง โดยผ่านกระบวนการลดโครโมโซมลงตามที่ได้อธิบาย สำหรับโครโมโซมมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ออโตโซม (Autosome) ซึ่งหมายถึง โครโมโซมร่างกาย มีจำนวน 22 คู่ หรือ 44 โครโมโซม

2. โครโมโซมเพศ (Sex chromosome) จะเป็นโครโมโซมที่เพศชายและเพศหญิงมีความแตกต่างกัน มีจำนวน 1 คู่ คือ เพศชาย มีโครโมโซมเพศเป็น XY ส่วนเพศหญิง มีโครโมโซมเพศเป็น XX

ดังนั้นเราจึงสามารพเขียนโครโมโซมของมนุษย์เพศชายและเพศหญิง ได้ดังนี้

เพศชาย มีโครโมโซมปกติ คือ 44 + XY

เพศหญิง มีโครโมโซมปกติ คือ 44 + XX





การเกิดแฝด

ประเภทของฝาแฝดนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

1. ฝาแฝดแท้ หรือฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน (Identical twins) ฝาแฝดจะมีหน้าตาเหมือนกัน เกิดจากไข่และสเปิร์มเซลล์เดียวกัน และมีการแบ่งเซลล์แบบไมโตซิสแยกเป็นเซลล์คนละกลุ่ม จึงทำให้ฝาแฝดประเภทนี้มีรูปร่างหน้าตา หมู่เลือด และเพศเหมือนกัน

2. ฝาแฝดเทียม หรือฝาแฝดไข่คนละใบ (Fraternal twins) ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นฝาแฝดแบบพี่น้อง เนื่องจากลักษณะที่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรมแตกต่างกัน เพราะว่าเกิดจากไข่และสเปิร์มคนละเซลล์ ซึ่งแม่อาจจะมีไข่ตกในเดือนนั้นมากกว่า 1 เซลล์ ฝาแฝดแบบนี้อาจเป็นเพศเดียวกันหรือต่างกัน มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน ตลอดจนอาจมีหมู่เลือดเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้





อิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อลักษณะบุคคล

           ความผิดปกติหลายอย่างที่เป็นผลมาจากยีนและโครโมโซม ซึ่งความผิดปกตินี้ก่อให้เกิดความพิการของร่างกาย รูปร่างลักษณะหน้าตา เชาวน์ปัญญา ตลอดจนทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งสามารถแบ่งความผิดปกติออกได้เป็นดังนี้

1. ความผิดปกติของโครโมโซมร่างกาย

1.1 Down’s syndrome ลักษณะที่พบได้ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับความผิดปกติในกรณีอื่นๆ มีลักษณะเด่น คือ มีสติปัญญาต่ำมาก ตาเฉียงชี้ขึ้น ปากแคบ ลิ้นโคคับปาก รูปร่างไม่ได้สัดส่วน

1.2 Patau’s syndrome ลักษณะมีสมองพิการ หูหนวก ปากแหว่งเพดานโหว่ ปัญญาอ่อน ประสาทตาผิดปกติ จมูกมีเนื้อยื่น มีจำนวนนิ้วเกิน มีอวัยวะภายในผิดปกติ

1.3 Cri-du-chat syndrome หรือ Cat cry syndrome ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของเด็กที่เกิดมาจะมีเสียงร้องเหมือนแมว หน้ากลม ศีรษะเล็ก ตาทั้งสองข้างเฉียงลงล่างและห่างกัน

1.4 Edward’s syndrome มีลักษณะปัญญาอ่อน คางเล็ก ศีรษะเล็ก มีท้ายทอยโหนกออก กล้ามเนื้อเกร็ง มีลักษณะกำมือและนิ้วมือเกยกัน





2. ความผิดปกติของโครโมโซมเพศ

2.1 Turner’s syndrome เป็นเพศหญิง รูปร่างเตี้ย คอสั้น ลำคอเป็นแผ่นกว้าง หน้าตาเหมือนคนแก่ ตาผิดปกติ ไม่มีประจำเดือน เป็นหมัน ไม่มีรังไข่และสติปัญญาต่ำ

2.2 Triple – syndrome ลักษณะโดยทั่วๆไปเหมือนผู้หญิงปกติ แต่ไม่สมบูรณ์เท่าผู้หญิงปกติ บางคนเป็นหมันและสติปัญญาต่ำ

2.3 Klinefelter’s syndrome เป็นเพศชายแต่มีลักษณะภายนอกบางอย่างของเพศหญิงผสม เช่น มีหน้าอก สะโพกผาย แต่มีอัณฑะเล็ก ไม่สามารถผลิตสเปิร์มได้ จึงเป็นหมัน และมีสติปัญญาต่ำหรือปัญญาอ่อน

2.4 XYY syndrome มีลักษณะรูปร่างสูงร่าง บึกบึน มีนิสัยก้าวร้าวรุนแรง ปัญญาอ่อน





3. ความผิดปกติของเมตาโบลิซึม

3.1 Phenylketonuria หรือเรียกว่า PKU เป็นผลมาจากความผิดปกติในการย่อยโปรตีน โดยที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเอนไซม์ ในการที่จะเปลี่ยนเฟนิลอะลานีนให้เป็นสารไทโรซีนได้ ทำให้ปัญญาอ่อน สีตา สีผมและสีผิวจะจางกว่าคนปกติ

3.2 โรคผิวเผือก ผู้ป่วยจะขาดสารเมลานิน ทำให้มีอาการผิวขาวซีด ตาสีจาง ม่านตาโปร่งแสง ไม่สามารถปกป้องผิวจากรังสีของแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้มากกว่าคนปกติ

3.3 แอลแคพโตนยูเรียซึ่งไม่สามารถสร้างเอนไซม์ เพื่อย่อยสาร Homegentisic ทำให้มีการสะสมสารนี้ในเลือด และร่างกายจะขับสารนี้ออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งจะมีสีดำและมีอาการปวดตามข้อ

3.4 โรคซิกเกิลเซลล์อะนีเมีย ซึ่งมีอาการเม็ดเลือดแดงไม่สมบูรณ์เป็นรูปโค้งครึ่งเสี้ยว พบในคนผิวดำ มีอาการโลหิตจาง



อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อบุคคล

1. สิ่งแวดล้อมก่อนเกิด หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิมาจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด ดังนั้น อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมก่อนเกิดนั้นจึงขึ้นอยู่กับสุขภาพของมารดาเป็นสำคัญ อันได้แก่

1) การบริโภคอาหารของมารดา ควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

2) ยา การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

3) บุหรี่และสุรา มารดาที่สูบบุหรี่มากระหว่างการตั้งครรภ์อาจมีผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ

4) สารกัมมันตภาพรังสี ในระหว่างตั้งครรภ์ควรเลี่ยงการรับรังสี X-ray

5) สุขภาพของมารดา

6) อุบัติเหตุ ควรระวังไม่ให้เกิดการเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่อาจเป็นอันตรายได้

7) สุขภาพจิตของมารดา จะส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์โดยตรง

2. สิ่งแวดล้อมขณะกำลังเกิด หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อทารกตั้งแต่เริ่มคลอดจากครรภ์ ซึ่งในช่วงเวลานี้แม้จะไม่กินเวลานานนัก แต่ปัญหาบางประการก็อาจจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อทารกได้ง่าย ได้แก่

1) ถ้ามีการกระทบกระเทือนต่อระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายโดยเฉพาะส่วนสมอง

2) ถ้าสมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือนจากการทำคลอดของแพทย์

3) ในกรณีที่ช่องคลอดมารดาติดเชื้อกามโรคโกโนเรีย หรือหนองใน เชื้อโรคจะทำลายเยื่อบุนัยน์ตาของทารกได้

3. สิ่งแวดล้อมหลังคลอด หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลนับตั้งแต่คลอดออกมาจากครรภ์มายังโลกภายนอก สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ได้แก่

1) สถาบันครอบครัว ถือว่าเป็นสถาบันแห่งแรกที่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมของบุคคลในด้านต่าง ๆ

2) สถาบันการศึกษา จะเป็นแหล่งหล่อหลอมพฤติกรรมของบุคคลในการใช้ชีวิตในสังคม

3) สถาบันศาสนา มีหน้าที่เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และมีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลในศาสนานั้น ๆ

4) สถาบันสื่อมวลชน มีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ทั้งทางบวกและทางลบ





การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการ
ได้แก่

1. ควรมีการวางแผนล่วงหน้าในการตั้งครรภ์ เพื่อให้ผู้เป็นแม่มีความพร้อมทางอารมณ์และเจตคติที่ดีต่อการมีบุตร

2. สุขภาพของมารดา ในขณะที่มารดาตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพให้ดี

3. วัยในการมีบุตร วัยที่เหมาะสมในการมีบุตรคือ ช่วงอายุ 21-30 ปี

4. อารมณ์ของมารดา มารดาควรหลีกเลี่ยงการเกิดอารมณ์ในทางลบ เพราะอารมณ์ในทางลบจะก่อให้เกิดความผิดปกติทางพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้

5. การจัดสิ่งแวดล้อมหลังคลอด พ่อแม่ควรคำนึงถึงเด็กและให้เด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาสถาบันศาสนา และสถาบันสื่อมวลชน ด้วย





ความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

พฤติกรรมของบุคคลนั้นไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองก็ย่อมเกิดขึ้น เพราะการแสดงปฏิกิริยาร่วมกันระหว่างพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันนั้น ได้แก่ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม พันธุกรรมนั้นเป็นสาเหตุประการแรกที่ทำให้บุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อบุคคลได้ออกจากนอกสถาบันครอบครัวเพื่อไปสู่สถาบันอื่น ๆ สิ่งแวดล้อมจึงเข้ามามีผลต่อความแตกต่างของแต่ละบุคคล






อิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความแตกต่างของบุคคลในด้านต่างๆ

1.ความแตกต่างทางด้านร่างกาย (Physical) เป็นความแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด ซึ่งรับอิทธิพลมาจากพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเราสามารถจำแนกความแตกต่างทางด้านร่างกายของแต่ละบุคคล ได้แก่

1) ลักษณะโครงสร้างทางร่างกาย เช่น ลักษณะสีผิว หน้าตา ลักษณะรูปร่าง

2) เพศ ทารกที่เกิดใหม่จะได้รับอิทธิพลทางเพศมาจาก เซ็กซ์โครโมโซม โดยตรง

3) ชนิดของกลุ่มโลหิต โดยปกติแล้วมนุษย์จะมีกลุ่มโลหิตเพียง 4 กลุ่ม คือ A, B, O และ AB

4) การทำงานของอวัยวะภายใน มีการทำงานของระบบภายในร่างกายที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ความดันเลือด เป็นต้น

5) ลักษณะของโรคภัยไข้เจ็บ ข้อบกพร่องทางร่างกายบางประการที่เกิดจากพันธุกรรม

2. ความแตกต่างทางด้านสติปัญญา (Intelligence)

สติปัญญา หมายถึง ความสามารถทางสมองในการจำ คิด วิเคราะห์ หาเหตุผล เรียนรู้ และการกระทำกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

3. ความแตกต่างด้านอารมณ์ (Emotion)

อารมณ์ (Emotion) หมายถึง สภาวะของจิตใจที่มีการ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าอารมณ์เป็นผลมาจากการถูกกระตุ้น จากสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายใน

4. ความแตกต่างทางสังคม (Social) หมายถึง ความแตกต่างด้านการแสดงออกทางพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่นในสังคม ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพกับสมาชิกอื่นในสังคม การวางตัว และการปรับตัว เป็นต้น

5. ความแตกต่างด้านบุคลิกภาพ (Personality)

บุคลิกภาพ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่แสดงออกมาทั้งทางร่างกายและจิตใจ บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป และเป็นพฤติกรรมโดยส่วนรวมที่ได้สั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยและความเคยชิน





8 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 กรกฎาคม 2553 เวลา 16:36

    sdfsdfsdf

    ตอบลบ
  2. นายออสการ์_Karisma'11 กรกฎาคม 2553 เวลา 16:46

    อยากมีฝาแฝดบ้างจัง

    คงจะสนุกน่าดู

    555+

    ตอบลบ
  3. รื้อฟื้นความจำสมัยเรียนมัธยม 555+

    ตอบลบ
  4. กำลังเรียนอยู่เลย

    ขอบคุณมากครับๆ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ29 สิงหาคม 2553 เวลา 14:18

    ขอบคุณนะค่ะ

    ตอบลบ
  6. โชคดีนะที่เรามี 46 โครโมโซมพอดี ไม่ขาดไม่เกิน

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2553 เวลา 12:06

    งั้นส่งลูกไปต่างประเทศ ลูกจะได้หน้าเหมือนฝรั่ง อิอิ

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ11 กันยายน 2553 เวลา 18:48

    อยากมีน้อง อ้ะ หึๆ

    ==>> ป้อม

    ตอบลบ