❤ อารมณ์

ความหมายของอารมณ์
           คำว่าอารมณ์ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Emotion” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า “Emovere” หมายถึง การยกขึ้น การตื่น การก่อกวน ปั่นป่วน หรือความตื่นเต้นเร้าใจ ดังนั้นในทางจิตวิทยาแล้ว อารมณ์ คือ ความว้าวุ้นใจ ความปั่นป่วน เป็นสภาวะที่บุคคลสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เป็นความรู้สึกภายในของบุคคลนั้นๆ
           ความรู้สึก (Feeling) เป็นลักษณะอาการที่แสดงออกของอารมณ์เป็นการแปลความหมายหรือตีความซึ่งแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกต่างๆ หรือหมายถึงกระบวนการการรู้สำนึกในเรื่องใดก็ได้
           จิตใจ (Mind) หมายถึงความรู้สึกนึกคิดของคนเราที่มั่นคงถาวร มีสาระแท้จริงและยากต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล

ประเภทของอารมณ์
           โรเบิร์ต พลูทชิค (Robert Plutchik) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องอารมณ์และเชื่อว่าอารมณ์มีพื้นฐานอยู่ 8 ชนิดคือ กลัว ประหลาดใจ เศร้า รังเกียจ โกรธ คาดหวัง รื่นเริง และยอมรับ อารมณ์ทั้ง 8 นี้ยังแปรเปลี่ยนไปตามระดับความความเข้มข้นของอารมณ์
           จาค แพงค์เซปป์ (Jaak Panksepp) ได้เสนอแนวคิดการจำแนกอารมณ์แตกต่างไปจากพลูทชิค โดยเสนอว่าอารมณ์พื้นฐานนั้นมีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ คาดหวัง เดือดดาล ตระหนก และหวาดกลัว
           เราสามารถแยกอารมณ์ออกได้เป็น 2 ประเภท โดยแบ่งตามฐานที่เกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ได้แก่
           อารมณ์ที่พึงประสงค์ ได้แก่ อารมณ์ที่พึงปรารถนาหรือเบิกบานใจ เป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความสุขและให้ประโยชน์ เช่น อารมณ์สงบ อารมณ์เพลินเพลิน อารมณ์รัก อารมณ์สุข เป็นต้น
           ส่วนอีกประเภทหนึ่งคืออารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อารมณ์ที่ทำให้เกิดความทุกข์และไม่พึงประสงค์ อารมณ์ประเภทนี้เช่น อารมณ์ท้อแท้ อารมณ์ว้าวุ่น อารมณ์รันทด อารมณ์วิตกกังวล อารมณ์เจ็บปวด เป็นต้น

หน้าที่ของอารมณ์
           1. เป็นตัวเร้าให้เกิดพฤติกรรม (Arousal) เปรียบกับการให้สัญญาณว่าจะมีบางสิ่งที่สำคัญเกิดขึ้น และอารมณ์จะส่งผลให้เกิดการกระทำที่รุนแรง
           2. เป็นตัวรวบรวม อารมณ์จะทำให้การรับรู้ของเรามีสีสันกับตัวเราเองและผู้อื่น รวมทั้งยังทำให้รวบรวมการคิดเป็นระบบที่รู้สึกได้
           3. เป็นตัวนำและเป็นตัวสนับสนุนให้มีพฤติกรรมต่อเนื่องไป เราจะพบว่าสัตว์ที่โกรธจะต่อสู้ คนที่มีความกลัวจะถอยหนี ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า อารมณ์เป็นตัวนำให้เกิดพฤติกรรมและยังสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมที่ต่อเนื่องต่อไป
           4. การสื่อสาร การสื่อสารของอารมณ์หรือสัญญาณของอารมณ์นั้นจะแสดงออกโดยทางสีหน้าได้ในระดับหนึ่ง

การเกิดของอารมณ์
           นักวิทยาศาสตร์ นักสรีรวิทยา และนักวิวัฒนาการ พบว่าอารมณ์เป็นพลังชนิดหนึ่งและอารมณ์เกิดขึ้นเพราะสิ่งเร้า นอกจากนี้ในทางกายวิภาคศาสตร์ยังพบอีกว่าบริเวณสมองส่วนหน้านั้นมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์ต่างๆอีกด้วย นั่นคือ
           1. สมองส่วนหน้าบริเวณฐานสมอง รับผิดชอบเกี่ยวกับสมาธิ การยับยั้งชั่งใจ และความมั่นคงทางอารมณ์
           2. สมองส่วนหน้าบริเวณผิวด้านนอก รับผิดชอบเกี่ยวกับการมีอารมณ์สุนทรี และความไวต่ออารมณ์
           3. สมองส่วนหน้าบริเวณแนวกลาง รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อขาทั้งสองข้าง

ทฤษฎีทางอารมณ์
           1. ทฤษฎีอารมณ์ของ เจมส์-แลง (James-Lange Theory) ทฤษฎีนี้เน้นว่า อารมณ์ของเราเกิดขึ้นเนื่องจากมีสิ่งเร้าเข้ามาเร้าอินทรีย์ หลังจากนั้นร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
           วิลเลียม เจมส์ (William James) ได้เสนอแนวคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลรู้สึกว่ามีอารมณ์เกิดขึ้นก็คือ การรู้สึกเปลี่ยนแปลงต่างๆทางสรีระที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการตอบสนองต่อสถานการณ์น่ากลัวหรือตกใจ

           2. ทฤษฎีทางอารมณ์ของแคนนอน-บาร์ด (Cannon-Bard Theory) ทฤษฎีนี้เชื่อว่า สมองส่วนไฮโปทาลามัสจะควบคุมอารมณ์ของสิ่งมีชีวิต โดยเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นจะมีการส่งกระแสประสาทไปยังสมองส่วนนี้

           3. ทฤษฎีอารมณ์ของแซตเตอร์-ซิงเกอร์ (Schachter-Singer Theory) เป็นทฤษฎีที่จัดอยู่ในกลุ่มพุทธนิยม ซึ่งเน้นความสำคัญของสมองในการตีความหมายของสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่พบเห็นว่ามีสาเหตุมาจากอะไร

พัฒนาการทางอารมณ์
           การแสดงออกทางอารมณ์ก็เหมือนกับพฤติกรรมอื่นๆที่ต้องอาศัยวุฒิภาวะและการเรียนรู้ โดยเฉพาะในระยะปีแรกของพัฒนาการมนุษย์
           วัยเด็กก่อนเข้าเรียนจะมีลักษณะอารมณ์ที่เอาแต่ใจตนเอง ในวัยรุ่นลักษณะอารมณ์จะไม่มั่นคง เปลี่ยนแปลงง่าย ในวัยผู้ใหญ่เป็นระยะที่มีแบบแผนทางอารมณ์ ในวัยชราลักษณะทางอารมณ์จะย้อนกลับไปเป็นแบบเปลี่ยนแปลงง่าย หวั่นไหวง่าย ไม่มั่นคง

การควบคุมอารมณ์
           1. ฝึกให้รู้จักระงับอารมณ์ที่รุนแรง แสดงอารมณ์ให้เหมาะสมตามกาลเทศะ
           2. พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความตรึงเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
           3. เมื่อมีเรื่องทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ ให้ระบายออกมาโดยเล่าให้ผู้อื่นที่ไว้ใจได้ฟัง
           4. สร้างอารมณ์ที่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้น และตั้งใจสร้างอารมณ์ดีให้มีตลอดไป

ความฉลาดทางอารมณ์
           ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) หรือ E.Q. เป็นความสามารถในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์และมีความสุข องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่
           องค์ประกอบแรก ได้แก่ เก่ง คือ ควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเองได้
           องค์ประกอบที่สอง ได้แก่ ดี คือรู้จักและมีแรงจูงใจในตนเอง มีการตัดสินใจแก้ปัญหา
           องค์ประกอบที่สาม ได้แก่ มีความสุข คือมีความภูมิใจในตนเอง พึงพอใจในชีวิต

ประโยชน์ของความฉลาดทางอารมณ์
           1. สามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีบุคลิกภาพที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มีความเหมาะสมกับในทุกสถานการณ์
           2. สามารถประยุกต์เพื่อการสื่อสารให้มีสัมพันธภาพ และประสานประโยชน์ร่วมกัน
           3. สามารถประยุกต์เพื่อพัฒนาองค์กรให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
           4. สามารถประยุกต์เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำให้เกิดความสำเร็จในการบริหาร


GENERAL PSYCHOLOGY

2 ความคิดเห็น:

  1. อารมณ์ดี เพราะมีความสุข

    แต่ถ้าเรียนหนัก แล้วจะสุข ได้อย่าง ไร ??

    5555+

    ตอบลบ
  2. ควบคุมอารมณ์โดยใช้ยางอาย เหมือนจะมีผลที่สุดแล้วกับสังคม

    ตอบลบ